#เมื่อบ้านเหมือนเวทีมวย
ปิดเทอมแล้ว ลูกหลานมานอนค้างที่บ้านกันทั้งหมด 4 คน
เด็กๆโตขึ้นมาก คนโต 10 ขวบ เล็กสุด 5 ขวบ
เด็กๆรักกันดี แต่ทุกชั่วโมงต้องมีเหตุให้ทะเลาะกัน เถียงกัน
นี่คือสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรให้บ้านสงบสุข
คนเป็นป้านึกปวดหัว คนเป็นพ่อแม่น่าจะยิ่งปวดหัวเข้าไปใหญ่
เวลาที่เด็กทะเลาะกัน เด็กๆต้องหัดเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เพราะมันคือทักษะที่เด็กๆต้องเรียนรู้
ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง
#พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าไปจัดการไกล่เกลี่ยการทะเลาะกันของเด็กๆเมื่อไหร่?
จังหวะในการเข้าไปหยุดการทะเลาะก็มีผลค่ะ
เพราะเด็กต้องเรียนรู้ความต่างของคนแต่ละคน
ต้องเรียนรู้จักแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
#เรียนรู้จากไหนคะ
เด็กๆเรียนรู้การวางมวยด้วยการสังเกตวิธีการจากคนรอบข้าง
เด็กๆเรียนรู้การปรองดองด้วยการได้รับการสอนสั่งโดยตรงจากพ่อแม่
แบ่งการทะเลาะออกเป็นสามแบบง่ายๆ
แบบที่ 1 บางทีเด็กๆเมื่อทะเลาะกัน ถ้าผู้ใหญ่ไม่อยู่ พวกเขาก็ประนีประนอมกันเองได้ในที่สุด ยอมกันไปยอมกันมา
มันอาจจะมีเสียงดังโวยวาย
แต่สุดท้ายก็โอเค
แบบที่ 2 มีพี่หรือน้องคนใดคนหนึ่งยอมเสียสละ
แบบที่ 3 ทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย จนพ่อแม่ต้องรีบเข้าไปห้าม
ครูเคยถามหลานคนโต เธอบอกว่า จริงๆหนูก็ไม่อยากทะเลาะกับน้องหรอก บางทีหนูก็ยอม บางทีน้องก็ยอม
แต่หลายๆครั้งหนูต้องรักษาสิทธิ์ของหนู
เพราะหนูว่ามันไม่ยุติธรรม
#เพราะเด็กๆมีธรรมชาติที่เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
พวกเขาจึงมักมองว่ามันไม่ยุติธรรม
#พ่อแม่ควรเข้าไปจัดการเมื่อไหร่คะ
เมื่อเห็นว่าเกิดความไม่ยุติธรรม ลำเอียง
เช่นเมื่อเด็กคนหนึ่งยอมแล้ว ลูกอีกคนหนึ่งยังไม่ยอมหยุดเอาเรื่อง
หรือเมื่อต้องการความสงบในบ้าน
#เมื่อเข้าไปแก้ปัญหา
#พ่อแม่ควรมีแนวทางดังนี้
1.ประเด็นที่ทะเลาะกันคืออะไร เช่นพี่ได้เล่นจักรยานอยู่คนเดียว น้องไม่ได้เล่นเลย
2.ให้เด็กๆลองแสดงความเห็นแก้ไขปัญหา
3.ให้เด็กๆผลัดกันเล่น ให้เด็กๆแบ่งปัน
4.ถ้าเด็กๆตัดสินใจเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องเป็นคนตัดสินให้เด็ก
5.พ่อแม่ต้องไม่ใส่อารมณ์ แสดงออกอย่างสงบ
6.ทำให้เด็กๆมีอารมณ์ที่สงบลง ด้วยการรับฟัง ด้วยการกอด ด้วยการไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
7.ให้เด็กๆค่อยๆเข้าใจว่า เราไม่สามารถได้ทุกสิ่งที่ต้องการตลอดเวลา
#สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ
1.เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้พวกลูกๆไม่ทะเลาะกัน
2.ระวังไม่ให้เกิดความลำเอียง
3.เวลาที่ลูกทะเลาะกันคือเวลาที่เราสอนสั่งลูก ไม่ใช่เวลาทำโทษลูก
ล่าสุดเมื่อคืน เด็กๆก็ขัดแย้งกันอีกว่าใครจะนอนข้างใคร
ต่างคนต่างไม่ยอม แต่สุดท้ายเมื่อหลับลงได้ ตื่นมาพวกเขาก็เล่นกันเหมือนเดิม
เราคงต้องไม่หงุดหงิดไปกับการทะเลาะกันของพวกเขา
แต่คอยดูคอยสอนให้รู้ว่านี่คือการอยู่ด้วยกัน
มันต้องมีโป้งมีก้อย
#เพราะมันเป็นเช่นนี้เอง
ขอบคุณบทความจาก What To Do When Kids Fight จาก TheMotherCompany.com ภาพจาก pixabay.com