top of page
30.jpg

#ไม่ใช่เวลาฝึกความเข้มแข็ง #แม่ให้อย่างเดียว
นี่เป็นคำพูดโดนใจจากนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์ชื่อดังผู้ที่สื่อสารกับพ่อแม่ยุคนี้ได้ตรงเป้าที่สุด
ที่ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งถึงความสำคัญของแม่
เพราะแม่เลี้ยงลูกแบบไหน ลูกก็จะออกมาเป็นแบบนั้น

...มีเด็กสาววัยรุ่นทำสีผมเจ็ดสี นั่งไขว่ห้างด้วยสีหน้าท้าทายคุณหมอ
ท้าทายว่าจะแก้ฉันจากผิดให้เป็นถูกได้หรือ
พลางมองพ่อแม่ด้วยสายตาเบื่อหน่าย ในห้องทำงานของผม....

ในคราวที่พ่อแม่กลุ้มใจกับลูกสาวที่สุด
กู่ไม่กลับ เหลือบ่ากว่าแรง พ่อแม่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร
คุณหมอแนะสองทางเลือก
ถ้าไม่อยากเห็นลูกหมดอนาคต ไม่รักดี ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ติดยาเสพติด
ติดเหล้า ติดการพนัน ติดเกมส์ หยิบโหย่ง เอาตัวรอดไม่เป็น ไม่ทำงานทำการ
ขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือแม้กระทั่งขับรถฝ่าไฟเหลืองจนโดนรถชนคนเป็นพิการ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เกิดจากการเลี้ยงดู

ทางเลือกที่หนึ่งคือให้ยา มียาทุกแบบ แก้เครียด แก้ซึมเศร้า ว่ามา
หรือ กลับไปเลี้ยงใหม่
ใช่ค่ะ คุณหมอบอกว่าให้กลับไปเลี้ยงใหม่

ถ้ารักลูก ไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างที่เรากลัว
ไม่อยากเดินเข้าห้องเพื่อพบหมอในอนาคต
เราคงต้องเรียนรู้แนวทางที่เรียกว่า EF (Executive Function)
ความสามารถในการควบคุมความคิด(cognition) การกระทำ(action) และอารมณ์(emotion) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย(goal)

สำหรับพวกเรา วันนี้ลูกยังเล็กนัก
เรามาเลี้ยงเขาให้ดี
คุณหมอท่านเน้นว่าการเลี้ยงลูกให้โตเป็นคนที่เอาตัวรอดได้
มีการควบคุมตัวเองได้
เข้าใจแนวคิดลำบากก่อนสบายทีหลัง
คิดเป็น ไม่เป็นภาระสังคม แต่เป็นกำลังของสังคม เป็นคนมีคุณภาพ
ต้องมีรากฐานใหญ่โตมั่นคงดุจดังปิรามิด
ฐานใหญ่มั่นคงนั้นคือช่วงวัยแรกเกิดถึง 12 เดือนนั่นเอง
ขั้นต่อๆไปเรื่อยๆจนถึงฐานบนคือวัย 11 ปีขึ้นไป

ความเป็นจริงของเด็กไทย ในต่างจังหวัดเด็ก 50% เกิดมาก็อยู่กับปู่ย่าตายาย
ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย
หรือพ่อแม่บางคนเป็น single mom single dad
คุณหมอว่าในเมื่อเขาเกิดมาแล้ว
อย่างไรก็ต้องเลี้ยง และเลี้ยงให้ดี
พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เป็นคนเลี้ยงต้องเลี้ยงให้ดี

เลี้ยงให้ดีในที่นี้หมายถึงเรื่องเบสิคที่เราอาจมองข้ามไปหรือเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ
ขอให้จำไว้ว่าสิ่งพื้นฐานที่แม่ควรทำควรเลี้ยงนั่นแหละคือตัวกำหนดชีวิตในวันหน้า
เป็นพื้นฐานที่สำคัญกับเขาเหลือเกิน

#แม่ต้องให้อย่างเดียว
หิว แม่ป้อนนม อึ แม่ล้างก้นเปลี่ยนผ้าให้
แม่กอด แม่อุ้ม แม่เอาใจใส่
หนาว แม่ห่มผ้า ร้อน แม่เปิดแอร์ให้
มดกัด แม่หยิบมดออก ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม
ทั้งหมดที่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดภัยและทำให้ลูกเกิด trust
เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ
เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี
ไม่ใช่ปล่อยให้ร้องไห้
ปล่อยให้เหงา
ปล่อยให้นอนจมกองอึ
ปล่อยให้หิว
ถ้าฐานแรกของปิรามิดดีและแข็งแกร่ง
ลูกได้รับการตอบสนองความต้องการ
ลูกจะมีพัฒนาการที่ดีเป็นรางวัลให้แม่ที่เลี้ยงลูกดี

คุณหมอยกตัวอย่าง
เด็กที่เริ่มตั้งไข่ แต่ไม่มีใครให้เดินไปหา
ไม่มีใครตบมือให้เมื่อทำได้
เขาก็ไม่อยากตั้งไข่ ไม่อยากเดินหาใคร
พัฒนาการจึงไม่ดี
รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ดี ได้ทานนมแม่ ได้เล่น
ได้ออกกำลัง นั่นคือกิจกรรมที่สร้างสารไมลีน
ที่หุ้มเส้นประสาท ทำให้เกิดวงจรในสมองที่ทำให้เกิดการตัดสินใจได้เร็ว
การเลี้ยงดูแบบแม่ให้อย่างเดียวในขวบปีแรก
จะทำให้ลูกมีสมองส่วนเหตุผลที่แข็งแรง
เป็นการเตรียมสมองที่มีประสิทธิภาพให้ลูก

ยกตัวอย่างง่ายๆ
เมื่อโตเป็นวัยรุ่น
อยากมีเพศสัมพันธ์กับต่างเพศ
สมองส่วนที่เป็นเหตุผลก็ตัดสินใจได้ฉับไวรวดเร็วกว่าสมองส่วนที่ใช้อารมณ์
สมองส่วนเหตุผลจึงชนะ
เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรจึงไม่เกิดขึ้น
หรืออยากลองเหล้า
พอลองแล้วก็ไม่ติด ดึงตัวเองออกมาได้ 
เพราะสมองส่วนเหตุผลมีความแข็งแกร่งกว่า

#ไม่ใช่เวลาฝึกความเข้มแข็ง
คำนี้ก็ความหมายดียิ่งนัก
ลูกหกล้มก็ปลอบได้ ช่วยได้
ไม่ต้องถึงกับให้ลุกเอง เช็ดเศษดินเอง เช็ดน้ำตาเองซะทุกครั้งไป
ยังไม่ต้องรีบท้าทายลูกอะไรมากมาย
ช่วงสามปีแรกเป็นวัยที่ยังเล็กนัก
อย่าเพิ่งฝึกเหมือนฝึกร.ด.

Executive Function น่าสนใจมาก
ส่วนพัฒนาการวัยอื่นที่เกี่ยวกับ EF ก็น่าสนใจมาก
พ่อแม่ยุคใหม่อย่างเรามีความใฝ่รู้
ลองหาเวลาศึกษาดูนะคะ
#ลูกหลานของเราจะได้โตมาไม่เป็นอย่างที่เราไม่อยากให้เขาเป็น

เนื้อหาจาก www.thepotential.org.com เปิดห้องเรียนพ่อแม่: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
พัฒนาการสร้าง self ของเด็กตามช่วงวัย_เพลินพัฒนา www.youtube.com by duangkamol KAY
EF-Executive Functions www.youtube.com by TKParkchannel

 

bottom of page